วันอังคารที่ 4 มิถุนายน พ.ศ. 2556

น้ำฝน น้ำดื่มปลอดสารเคมี



 น้ำฝน
น้ำฝนเป็นน้ำที่ใช้ดื่มกันมาตั้งแต่สมัยดึกดำบรรพ์ จนเมื่อ 100 กว่าปีมานี้ เริ่มมีน้ำประปาใช้ ผู้ที่มีน้ำประปาใช้ ค่อยๆเปลี่ยนจากดื่มน้ำฝนไปดื่มน้ำประปา เพราะเห็นกับความสะดวก ไม่ต้องรองน้ำฝน ไม่ต้องตั้งโอ่งน้ำฝนให้เกะกะ จนถึงปัจจุบันค่านิยมค่อยๆ เปลี่ยนไป การดื่มน้ำฝนถูกมองว่าเป็นเรื่องของชาวชนบทที่ไม่มีน้ำประปาจะใช้ หรือเป็นเรื่องของคนจนที่ไม่มีเงินซื้อน้ำดื่มบรรจุขวด ธุรกิจการผลิตน้ำดื่มบรรจุขวด ธุรกิจเครื่องกรองน้ำประปา และการปล่อยข่าวว่าอากาศมีมลพิษ ฝนเป็นฝนกรด ฝนเหลือง ต่างๆเหล่านี้ ล้วนเป็นต้นเหตุให้การใช้น้ำฝนเป็นน้ำดื่มลดลงอย่างรวดเร็ว โดยสังเกตได้จากการที่ธุรกิจน้ำดื่มเจริญเติบโตขึ้นราวกับดอกเห็ด ธุรกิจร่ำรวยขึ้น แต่ประชาชนยากจนลง เพราะต้องแบ่งเงินไปซื้อน้ำดื่มและสุขภาพก็ทรุดโทรมลงเพราะน้ำที่ดื่มนั้นมี คุณภาพต่ำ ไม่มีใครออกมาให้ข้อมูล หรือชี้แจงให้ประชาชนเข้าใจเกี่ยวกับน้ำฝนที่จะใช้เป็นน้ำดื่ม ว่ามีความปลอดภัยเพียงไร มีคุณภาพดีกว่าน้ำดื่มชนิดอื่นอย่างไร และจะใช้ดื่มได้อย่างไร
ความจริงถึงแม้ในปัจจุบันนี้ น้ำฝนก็ยังเป็นน้ำที่ดีที่สุด ปลอดภัยที่สุด ที่จะใช้เป็นน้ำดื่ม น้ำบริโภค ไม่มีน้ำดื่มชนิดไหนจะเทียบได้ เพราะน้ำฝนเป็นน้ำที่เกิดจากการระเหยของน้ำจากทะเล จากมหาสมุทร และจากแหล่งน้ำอื่นๆ รวมตัวกันเป็นเมฆ และกลั่นตัวเป็นหยดน้ำอันแสนบริสุทธิ์ ระหว่างที่เม็ดฝนตกผ่านอากาศลงมา ได้มีการสัมผัสกับออกซิเจนในอากาศ ทำให้น้ำฝนมีรสชาติตามธรรมชาติและมีคุณสมบัติที่เหมาะสำหรับการดื่มกิน ข่าวการเกิดฝนกรดฝนเหลืองอาจจะทำให้คนที่ไม่ทราบข้อเท็จจริง ไม่กล้ากินน้ำฝน
ฝนกรดเคยเกิดเป็นข่าวขึ้นระยะหนึ่งที่บริเวณโรงไฟฟ้า ถ่านหินลิกไนท์ ของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทยที่แม่เมาะ เนื่องจากถ่านหินที่นำไปเผามีกำมะถันอยู่มาก และไม่มีเครื่องกรองอากาศก่อนปล่อยออกจากปล่อง ทำให้มีไอกำมะถันลอยอยู่ในบริเวณนั้น เมื่อมีฝนตกลงมาและชะเอาไอกำมะถันลงมาด้วย ทำให้น้ำฝนมีรสเปรี้ยว อันตรายของฝนกรดที่มีต่อสุขภาพจากการดื่มกินนั้น มีไม่มาก เพราะถ้าฝนตกลงมามีรสเปรี้ยวแล้ว ก็คงจะไม่มีใครกินอยู่แล้ว แต่อันตรายที่ชัดเจนคือ การหายใจเอาไอกำมะถันเข้าไป ทำให้ประชาชนในบริเวณนั้นเป็นโรคทางเดินหายใจกันเกือบหมด แต่ขณะนี้การไฟฟ้าฝ่ายผลิตได้ทำการติดตั้งเครื่องกรองกำมะถันเพื่อแก้ปัญหา นี้แล้ว
สภาพความเป็นกรดเป็นด่างของน้ำฝน เป็นสิ่งหนึ่งที่ถูกใช้เป็นตัวชี้วัดคุณภาพของสิ่งแวดล้อมหรือมลภาวะของ อากาศ อากาศที่ไม่มีมลภาวะ จะให้น้ำฝนที่สะอาดบริสุทธิ์ซึ่งมีค่า pH = 5.6 น้ำฝนที่มีค่า pH น้อยกว่า 5.6 จะถูกเรียกว่า “ ฝนกรด ” การที่นักอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมให้ความสนใจกับฝนกรดมาก เพราะฝนกรดมีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมมาก เช่น ทำให้เกิดการสะสมของกรดในดิน เมื่อดินมีสภาพเป็นกรดมากขึ้น ดินก็จะกลายเป็นดินเปรี้ยว ใช้เพาะปลูกไม่ได้ ฝนกรดที่ตกลงในแหล่งน้ำธรรมชาติ จะทำลายระบบนิเวศน์วิทยาในน้ำ มีผลต่อการดำรงชีวิตของปลาและแพลงตอนซึ่งเป็นห่วงโซ่อาหาร แต่ค่าความเป็นกรดเป็นด่างหรือค่า pH ไม่ใช่สิ่งที่จะใช้ตัดสินได้ว่า น้ำนั้นปลอดภัยสำหรับการบริโภคหรือไม่ ดังจะเห็นได้จากน้ำอัดลมหรือน้ำโซดาที่เราใช้ดื่มเป็นประจำ จะมีค่า pH = 3 น้ำมะเขือเทศมีค่า pH = 4 น้ำมะนาวมีค่า pH = 2 ก็เป็นสิ่งที่เราใช้บริโภคเป็นปกติ ชนิดและปริมาณของสารเคมีต่างหาก ที่จะใช้ตัดสินว่าน้ำนั้นปลอดภัยสำหรับการบริโภคหรือไม่
กรมอนามัยซึ่งมี หน้าที่เกี่ยวข้องกับสุขภาพอนามัยของประชาชน มีหน่วยงานที่คอยเฝ้าระวังคุณภาพของน้ำฝน มีการเก็บตัวอย่างน้ำฝนจากที่ต่างๆ ไม่ว่าในกรุงเทพหรือต่างจังหวัด มาทำการวิเคราะห์คุณภาพทั้งทางด้านเคมี ฟิสิกส์ และแบคทีเรีย เพื่อคุ้มครองความปลอดภัยของประชาชน ซึ่งส่วนใหญ่อาศัยน้ำฝนเป็นน้ำดื่ม หากพบว่าน้ำฝนไม่ปลอดภัยสำหรับการบริโภค ก็จะแจ้งเตือนให้ประชาชนทราบ และเท่าที่ผ่านมา นอกจากที่แม่เมาะแล้ว ก็ไม่เคยปรากฏว่าน้ำฝนมีคุณภาพต่ำกว่ามาตรฐานน้ำดื่มที่องค์การอนามัยโลก กำหนด เว้นแต่น้ำฝนที่เก็บกักไว้ในภาชนะที่ไม่สะอาด ก็จะมีแบคทีเรียเกินมาตรฐาน ซึ่งหากนำไปต้มหรือกรองด้วยระบบ Slow Sand Filter เสียก่อน ก็จะสามารถนำมาดื่มได้อย่างปลอดภัย
ส่วนฝนเหลืองนั้น เกิดในสมัยสงครามเวียดนาม พวกเวียดกงหลบซ่อนตัวอยู่ในป่าทึบ ทหารอเมริกันขับเครื่องบินมองไม่เห็นพวกเวียดกง เห็นแต่ใบไม้เขียวไปหมด ก็เลยเอาสารเคมีไปโปรยให้ใบไม้ร่วง ปรากฏว่าสารเคมีนั้นฟุ้งกระจายอยู่ในอากาศ พอฝนตกลงมาก็ทำให้น้ำฝนมีสีเหลือง คนที่โดนสารเคมีนั้นเข้าไป ต้องเจ็บป่วยทนทุกข์ทรมานเป็นจำนวนมาก อเมริกันถูกนานาชาติประณามในการใช้สารเคมีนั้น หลังจากนั้นมาก็ไม่มีการใช้สารเคมีนั้นอีก ฝนเหลืองจึงเป็นเรื่องของการทำลายล้างกันในยามสงคราม ไม่ใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นได้ในยามสงบสันติ
 คุณภาพแหล่งน้ำ
หากคิดว่าน้ำฝนเป็นแหล่งน้ำที่ไม่สะอาด มีสารพิษใช้บริโภคไม่ได้ ก็จะไม่มีแหล่งน้ำที่ไหนในโลกนี้จะสะอาดหรือใช้บริโภคได้ เพราะน้ำฝนเป็นต้นกำเนิดของแหล่งน้ำทุกชนิดในโลกนี้ น้ำในแม่น้ำลำคลองก็เกิดจากน้ำฝนที่ตกลงมา แถมชะล้างเอาสิ่งสกปรกจากพื้นดิน ไม่ว่าจะเป็นดิน ตะกอน ยาฆ่าแมลง ยากำจัดศัตรูพืช ปุ๋ยเคมี สารเคมี สารพิษต่างๆ น้ำทิ้งจากโรงงาน น้ำทิ้งจากท่อระบายน้ำ และสิ่งปฏิกูลต่างๆ ไหลลงไปรวมอยู่ในแม่น้ำลำคลอง น้ำบาดาลหรือน้ำใต้ดินก็มีต้นกำเนิดมาจากน้ำฝน ที่ไหลซึมผ่านชั้นดิน ชั้นทราย ชั้นหิน ลงไปรวมเป็นแหล่งน้ำบาดาล ซึ่งชั้นต่างๆ ที่น้ำซึมผ่านลงไปนี้สามารถกรองได้เฉพาะตะกอนหรือความขุ่น ทำให้น้ำดูใสขึ้น แต่ก็ไม่สามารถกรองสารเคมีที่ละลายอยู่ในน้ำออกได้ มีแต่จะละลายเอาสารเคมีที่อยู่ในชั้นดินชั้นหิน เพิ่มเข้าไปอีก ในระบบการผลิตน้ำดื่มชนิดต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด หรือเครื่องกรองน้ำประปา ส่วนใหญ่ก็เป็นเพียงระบบที่ช่วยแยกตะกอนออกจากน้ำ ทำน้ำขุ่นให้เป็นน้ำใส ทำน้ำกระด้างให้เป็นน้ำอ่อน ดูดสีดูดกลิ่นออกจากน้ำและฆ่าเชื้อโรคในน้ำเท่านั้น และทุกขั้นตอนของการผลิตน้ำดื่มดังกล่าว ก็มีการใส่สารเคมีเพิ่มเข้าไปอีก ถึงแม้จะอ้างว่าเป็นสารเคมีที่ไม่มีอันตราย ก็เป็นการอ้างตามความรู้เท่าที่มีอยู่ในปัจจุบัน และเท่าที่เครื่องมือในปัจจุบันจะตรวจวิเคราะห์ได้ ซึ่งต่อไปในอนาคตเมื่อมีการค้นคว้าวิจัยเพิ่มขึ้น ก็อาจจะรู้เพิ่มขึ้นอีกว่า สิ่งที่ไม่มีอันตรายในอดีต กลายเป็นสิ่งที่มีอันตรายเสียแล้ว เช่นคลอรีนที่ใช้ฆ่าเชื้อโรคในน้ำดื่ม ในอดีตก็ว่าปลอดภัย แต่ในปัจจุบันรู้แล้วว่า คลอรีนทำปฏิกิริยากับสารอินทรีย์ในน้ำ กลายเป็นสารก่อมะเร็งชื่อ Trihalomethane เป็นต้น
 การรองน้ำฝน
ปัญหาการปนเปื้อนของน้ำฝนจากมลพิษอื่นๆในอากาศ มีน้อยมาก ไม่มีผลที่จะทำให้น้ำฝนใช้บริโภคไม่ได้ นอกเสียจากว่ามลพิษในอากาศนั้น มีมากจนใช้หายใจไม่ได้ ก็อาจจะทำให้น้ำฝนใช้บริโภคไม่ได้ การรองน้ำฝนในขณะที่ฝนเริ่มตกใหม่ๆ โดยเฉพาะในตอนต้นฤดูฝน จะทำให้ได้น้ำฝนที่ไม่ค่อยสะอาด เนื่องจากหลังคายังสกปรกอยู่ ควรปล่อยให้ฝนตกลงมาชะล้างฝุ่นละอองในอากาศ และพื้นหลังคาที่ใช้รองน้ำฝน ให้สะอาดสักระยะหนึ่งก่อน การรองน้ำฝนควรจะรองในตอนที่ฝนตกหนักๆ หรือตอนที่มีพายุดีเปรสชั่นเข้า จะได้น้ำฝนที่สะอาดที่สุด
จากวัฏจักรของ น้ำตามธรรมชาติ จะพบว่าน้ำฝนเป็นน้ำที่สะอาดที่สุด เมื่อน้ำฝนตกถึงพื้นดินก็จะค่อยๆ สกปรกมากขึ้น มีการ ชะเอาดินโคลนเข้าไป หากเป็นพื้นที่เกษตรกรรมก็จะมียาฆ่าแมลงและยากำจัดศัตรูพืชเพิ่มเข้าไป เมื่อไหลไปในคลองในแม่น้ำ ก็จะมีโอกาสสกปรกมากยิ่งขึ้น เมื่อลำน้ำนั้นไหลผ่านโรงงานอุตสาหกรรม ก็จะต้องรับน้ำเสียและสารเคมีจากโรงงาน เมื่อไหลผ่านตัวเมืองหรือชุมชน ก็ต้องรับน้ำจากท่อระบายน้ำและสิ่งปฏิกูลต่างๆจากชุมชนนั้น ฉะนั้นน้ำธรรมชาติที่สะอาดที่สุดก็คือ น้ำฝนที่รองเอาไว้ก่อนตกถึงพื้นดิน
น้ำ ฝนที่เก็บไว้ในโอ่งหรือแท้งค์น้ำ อาจมีจุลินทรีย์หรือเชื้อโรคปะปนอยู่ ซึ่งจะมีจำนวนมากหรือน้อย ขึ้นอยู่กับความระมัดระวังในการเก็บ การรักษา และการนำน้ำฝนนั้นมาใช้ ภาชนะเก็บน้ำที่สะอาดและมีฝาปิด การระวังไม่ให้มีสิ่งสกปรกตกลงไปในน้ำ การใช้ขันที่สะอาดและล้างมือให้สะอาด ก่อนที่จะจุ่มลงไปตักน้ำขึ้นมาใช้ จะเป็นสิ่งที่ช่วยรักษาความสะอาดของน้ำฝนได้มาก
การดื่มน้ำฝน
    วิธีนำน้ำฝนไปดื่มมีหลายวิธี ผู้ที่ไม่พิถีพิถันในเรื่องความสะอาดของน้ำที่จะดื่ม และเป็นผู้ที่มีภูมิต้านทานเชื้อโรคได้สูง อาจจะดื่มน้ำฝนโดย ใช้ขันตักน้ำฝนในโอ่งไปดื่มโดยตรง วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่เคยดื่มน้ำฝนวิธีนี้เป็นประจำ หรือผู้ที่มีภูมิต้านทานสูง สำหรับผู้ที่พิถีพิถันขึ้นมาหน่อยไม่อยากที่จะดื่มน้ำที่มีมดมีลูกน้ำเข้าไป ด้วย ก็อาจจะใช้ผ้าขาวบางมากรองเสียชั้นหนึ่งก่อน จึงนำไปดื่ม แต่ถ้าจะให้สะอาดปราศจากเชื้อโรค ก็ต้องเอาไปต้มให้เดือด แต่การต้มน้ำนี้ นอกจากจะเปลืองไฟเปลืองแก๊สและไม่สะดวกแล้ว ยังต้องระมัดระวังการถูกน้ำร้อนลวกด้วย นอกจากนี้รสชาติของน้ำฝนที่ไม่ได้ต้ม ยังอร่อยกว่าน้ำฝนที่ต้มแล้ว คนส่วนใหญ่จึงไม่นิยมการต้มน้ำฝนสำหรับดื่ม แต่ตามหลักอนามัยแล้ว น้ำที่ดื่มเข้าไปควรจะปราศจากเชื้อโรค และเป็นที่รู้กันทั่วไปว่าการต้มน้ำให้เดือด จะเป็นการฆ่าเชื้อโรคได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่มีอีกวิธีหนึ่ง ที่สามารถทำให้น้ำฝนสะอาดปราศจากเชื้อโรคได้โดยไม่ต้องต้ม นั่นคือวิธีกรองด้วยระบบ Slow Sand Filter (ทรายกรองช้า) ซึ่งเป็นระบบกรองน้ำที่มีอยู่ในธรรมชาติ และถูกนำมาใช้กับระบบประปาที่มีแหล่งน้ำดิบ ที่เป็นน้ำใสและมีคุณภาพสูง มานานกว่าศตวรรษแล้ว ปัจจุบันได้มีผู้ประดิษฐ์เครื่องกรองน้ำระบบ Slow Sand Filter สำหรับใช้กรองน้ำฝนประจำบ้านแล้ว เครื่องกรองน้ำฝนนี้ เป็นเครื่องที่ทำขึ้นได้ไม่ยาก ผู้ที่มีหัวเป็นช่างสักเล็กน้อย ก็สามารถทำเองได้ โดยเสียเงินซื้อวัสดุไม่เกิน 500 บาท วัสดุก็หาซื้อได้ไม่ยากแม้ในต่างจังหวัด ซึ่งรายละเอียดเกี่ยวกับเครื่องกรองน้ำฝนนี้ สามารถหาอ่านได้ใน วารสารน้ำ ของการประปาส่วนภูมิภาค ฉบับเดือน มิถุนายน 2534
เครื่องกรองน้ำฝนนี้จะ ต่างจากเครื่องกรองน้ำประปาก็ตรงที่ เครื่องกรองน้ำประปาจะเป็นเครื่องที่ต้องต่อเข้ากับท่อประปา ภายในจะมีไส้กรองสำหรับกรองตะกอน และมีการใช้สารเคมีเช่น ถ่านกัมมันต์(Activated Carbon) และสารเรซิ่น(Resin) ซึ่งต้องมีการเปลี่ยนไส้กรองและสารเคมีเป็นประจำ แต่เครื่องกรองน้ำฝนนี้ไม่ต้องต่อเข้ากับท่อประปา ใช้ตักน้ำฝนจากโอ่งมาใส่เครื่องกรองได้เลย ภายในเครื่องไม่มีการใช้สารเคมี มีแต่ทรายธรรมชาติ ซึ่งเมื่อทำการบ่มทรายเรียบร้อยแล้ว จะสามารถกรองเชื้อโรคออกจากน้ำฝนได้ เครื่องกรองน้ำฝนนี้ใช้งานง่าย ไม่ต้องมีการบำรุงรักษาเป็นประจำ การกรองน้ำฝนหากตักเอาแต่น้ำใสๆ ไม่ตักเอาตะกอนก้นโอ่งใส่เข้าไปกรองด้วย เครื่องกรองน้ำฝนนี้จะสามารถใช้ได้นานกว่า 10 ปี โดยไม่มีการอุดตันของหน้าทราย ไม่ต้องล้างทรายกรอง ยิ่งใช้นานประสิทธิภาพในการกรองเชื้อโรคยิ่งเพิ่มขึ้น
น้ำประปา
น้ำประปานับเป็นน้ำดื่มที่คนส่วนใหญ่ ที่อาศัยอยู่ในเมืองใช้ดื่มกิน สารเคมีที่ถูกนำมาใช้ในการผลิตน้ำประปา มีมากกว่า 30 ชนิด จำนวนสารเคมีที่ใช้จะขึ้นอยู่กับคุณภาพของแหล่งน้ำดิบ ที่นำมาใช้ผลิตน้ำประปา ถ้าแหล่งน้ำดิบมีคุณภาพต่ำก็ต้องใช้สารเคมีหลายชนิด แต่อย่างน้อยที่สุดสารเคมีที่การผลิตน้ำประปาจะขาดไม่ได้คือ คลอรีน ซึ่งใช้สำหรับฆ่าเชื้อโรคในน้ำ แหล่งน้ำที่ใช้ในการผลิตน้ำประปา สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 ชนิด คือ น้ำบาดาล และน้ำผิวดิน
สารเคมีที่ใช้ใน การผลิตน้ำประปาจากน้ำบาดาลจะมีไม่มากนัก เพราะน้ำบาดาลส่วนใหญ่ที่ใช้ผลิตน้ำประปาจะมีคุณภาพดี ใส่คลอรีนอย่างเดียวก็ใช้ได้แล้ว น้ำบาดาลบางแห่ง ที่มีคุณภาพไม่ได้มาตรฐาน ก็จำเป็นต้องใส่สารเคมีเพิ่มเข้าไปอีก เช่น น้ำบาดาลที่เป็นน้ำกระด้าง ก็จำเป็นต้องใส่ปูนขาวและโซเดียมคาร์บอเนต หรือใช้สารเรซินช่วยแก้ความกระด้าง ส่วนแหล่งน้ำที่เป็นน้ำผิวดิน เช่น แม่น้ำ ลำคลอง ลำธาร อ่างเก็บน้ำ บึง สระ ก็จะต้องใช้สารเคมีมากขึ้น ตามความสกปรกของแหล่งน้ำนั้น สารเคมีที่ต้องนำมาใช้กับน้ำผิวดินแทบทุกชนิด คือ สารส้ม ซึ่งเป็นสารเคมีที่ใช้สำหรับการตกตะกอน ทำให้น้ำใสขึ้น และในกรณีที่ตะกอนในน้ำเป็นตะกอนที่มีน้ำหนักเบา ก็อาจจะมีการใส่สารสังเคราะห์ที่เรียกว่า Polymmer เพื่อช่วยให้การตกตะกอนง่ายขึ้น รวมทั้งการใส่คลอรีนเพื่อทำลายสารอินทรีย์หรือตะไคร่ในน้ำ จุนสีหรือ Copper Sulfate ก็เป็นสารเคมีอีกชนิดหนึ่งที่ใช้ในการทำลายตะไคร่น้ำในวงการประปา ในกรณีที่น้ำมีความเป็นกรดเป็นด่างไม่เหมาะสม ก็จะมีการใส่ปูนขาวเข้าไปช่วย แหล่งน้ำผิวดินบางแห่งมีความสกปรกมาก มีปริมาณแมงกานีสสูง ก็อาจจะต้องใส่ด่างทับทิมเข้าไปช่วยแก้ไข น้ำที่มีกลิ่นมีสีก็จะใช้ถ่านกัมมันต์เข้าไปฟอกสีดูดกลิ่นออก เมื่อน้ำผ่านการตกตะกอนและกรองจนใสดีแล้ว ก็จะต้องใส่คลอรีนเพื่อฆ่าเชื้อโรค ก่อนที่จะจ่ายออกไปให้ผู้ใช้น้ำต่อไป
คุณภาพ ของแหล่งน้ำดิบที่นำมาผลิตน้ำประปา นับวันจะยิ่งมีคุณภาพต่ำลงทุกที เพราะมลภาวะทางน้ำที่ยากต่อการควบคุม ได้เพิ่มมากขึ้นตลอดเวลา ค่าใช้จ่ายในการผลิตน้ำประปาจะถูกเพิ่มขึ้นจากการใช้สารเคมีที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งค่าใช้จ่ายที่เพิ่มขึ้น จากการลงทุนในการสร้างระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำที่ยุ่งยากสลับซับซ้อนยิ่งขึ้น เพื่อพยายามทำให้น้ำประปาเป็นน้ำที่มีคุณภาพดื่มได้ ทั้งที่ปริมาณของน้ำประปาที่ถูกใช้เป็นน้ำดื่มหรือน้ำบริโภคมีเพียง 1%เท่านั้น ส่วนน้ำประปาอีก 99% ถูกใช้เป็นน้ำอุปโภค หมายความว่า ในบ้านทั่วๆไป จะใช้น้ำประปาวันละประมาณ 1 ลูกบาศก์เมตร หรือ ประมาณ 1,000 ลิตร น้ำประปา 1,000 ลิตรนี้ จะถูกใช้เป็นน้ำดื่ม, น้ำหุงข้าว ต้มแกง ประมาณ 10 ลิตร ที่เหลืออีก 990 ลิตร จะถูกใช้เป็นน้ำล้างชาม, ซักผ้า, อาบน้ำ, ถูบ้าน, ล้างรถ,รดต้นไม้, ชักโครก, ฯลฯ ซึ่งไม่จำเป็นต้องมีคุณภาพดีเท่าน้ำสำหรับการบริโภค การทำน้ำประปาให้เป็นน้ำที่มีคุณภาพสำหรับการบริโภค จะมีค่าใช้จ่ายสูงกว่าการทำน้ำประปาให้มีคุณภาพเพียงแค่ให้เป็นน้ำอุปโภค หลายเท่า และการใช้น้ำที่บริโภคได้ ไปใช้เพื่อการอุปโภค ก็เป็นการสิ้นเปลืองทางเศรษฐกิจอย่างมาก ดังนั้นเมื่อมลภาวะในแหล่งน้ำดิบมีมากขึ้นจนถึงระดับหนึ่ง ที่ทำให้ไม่สามารถผลิตน้ำประปาที่มีคุณภาพดีพอสำหรับการบริโภค หรือผลิตได้ในราคาค่าน้ำที่ผู้ใช้น้ำประปาจะยอมรับได้ การผลิตน้ำประปาในตอนนั้น ก็คงจะทำให้มีคุณภาพเพียงเป็นน้ำสำหรับอุปโภคเท่านั้น ส่วนน้ำบริโภคหากไม่มีน้ำฝน ก็คงต้องพึ่งน้ำดื่มบรรจุขวดโดยไม่มีทางหลีกเลี่ยง
หากการประปาสามารถรอง น้ำฝนมาผลิตน้ำประปาได้ ก็จะไม่ต้องใช้สารเคมีมากและจะได้น้ำประปาที่สะอาดที่สุด แต่ก็ไม่สามารถทำเช่นนั้นได้ เพราะการผลิตน้ำประปาต้องใช้น้ำเป็นจำนวนมาก ต่อให้สร้างหลังคาคลุมหมดทั้งเมือง ก็รองน้ำฝนได้ไม่พอผลิตน้ำประปา การประปาจึงจำเป็นต้องใช้แหล่งน้ำ ที่สามารถให้น้ำได้ในปริมาณมากๆ ติดต่อกันตลอดทั้งปี เช่น น้ำในแม่น้ำ ลำคลอง อ่างเก็บน้ำ หรือน้ำบาดาล จึงทำให้การใช้สารเคมีเป็นจำนวนมากในการผลิตน้ำประปา เป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้
ถึงแม้จะมีการยืนยันว่า น้ำประปาปลอดภัยดื่มได้จากก๊อก แต่ก็คงจะมีผู้ที่รองน้ำประปาจากก๊อกมาดื่มโดยตรง ไม่มากนัก นอกจากเป็นกรณีฉุกเฉินหรือจำเป็นจริงๆ เพราะคนส่วนใหญ่จะดื่มน้ำประปา โดยการนำไปต้มก่อน หรือไม่เช่นนั้น ก็มีการใช้เครื่องกรองน้ำประปา และคงจะมีจำนวนไม่น้อย ที่กรองด้วยเครื่องกรองน้ำประปาแล้ว ยังนำไปต้มอีก จึงจะนำมาดื่ม


เครื่องกรองน้ำประปา
ปัจจุบันผู้ดื่มน้ำประปา เป็นจำนวนมาก พยายามทำให้น้ำประปาน่าดื่มยิ่งขึ้น โดยการติดตั้งเครื่องกรองน้ำเพื่อกรองน้ำประปาไว้สำหรับดื่ม ซึ่งเครื่องกรองน้ำประปาที่ได้มาตรฐานส่วนใหญ่ ก็สามารถตอบสนองความต้องการของผู้ติดตั้งได้ คือ สามารถทำให้น้ำประปาใสขึ้นและปราศจากกลิ่นคลอรีน แต่ก็หนีไม่พ้นที่จะต้องรับสารเคมีเพิ่มขึ้น จากการที่น้ำไหลผ่านเครื่องกรองน้ำนั้น
เครื่องกรองน้ำประปาที่ติดตั้ง ตามบ้านส่วนใหญ่จะประกอบด้วยวัสดุกรอง ซึ่งอาจจะเป็นเยื่อบางๆ หรือเป็นแท่งใยสังเคราะห์สำหรับกรองตะกอนที่อยู่ในน้ำ ทำให้น้ำดูใสขึ้น ซึ่งการผลิตวัสดุกรองนี้ ก็คงหนีไม่พ้นที่จะต้องใช้สารเคมี และเมื่อน้ำผ่านวัสดุกรองนี้ ก็อาจจะละลายเอาสารเคมีที่อยู่ในวัสดุกรองออกมาได้ เครื่องกรองน้ำบางชนิด มีการใส่สารเคมีเพิ่มเข้าไปเพื่อช่วยยืดอายุของวัสดุกรองไม่ให้ตันเร็ว ส่วนตัวสารเคมีที่ช่วยปรับปรุงคุณภาพน้ำจริงๆ ที่ใช้ในเครื่องกรองน้ำทั่วไปได้แก่ ถ่านกัมมันต์ ซึ่งมีทั้งชนิดผง ชนิดเม็ด และชนิดแท่ง ถ่านกัมมันต์จะเป็นตัวดูดซับกลิ่นและสีที่อยู่ในน้ำ รวมทั้งสารเคมีต่างๆ มาไว้ในตัวมันเอง แต่บางครั้งถ่านกัมมันต์ที่มีอนุภาคเล็กมาก ก็อาจจะหลุดลอยตามน้ำออกมา โดยมีสารเคมีที่มันดูดซับไว้ ติดออกมาด้วย เครื่องกรองน้ำบางเครื่องจะมีสารเรซิน สำหรับทำให้น้ำกระด้างกลายเป็นน้ำอ่อน น้ำมีรสชาติดีขึ้น ซึ่งสารเรซินนี้จะทำหน้าที่แลกเปลี่ยนประจุไฟฟ้าทางเคมีในน้ำ ซึ่งละอองของสารเรซินนี้ก็อาจจะหลุดลอยออกมากับน้ำได้
เครื่องกรองน้ำบาง ชนิด ใช้ไส้กรองแบบ Reverse Osmosis (RO.) ซึ่งเป็นไส้กรองที่มีราคาแพง ต้องสั่งซื้อจากต่างประเทศ ไส้กรองนี้จะใช้น้ำเปลืองมาก การกรองน้ำ 100 ลิตร จะได้น้ำสะอาดประมาณ 15 ลิตร น้ำที่เหลือ 85 ลิตร ต้องระบายทิ้งไป บางยี่ห้อบางรุ่นได้น้ำสะอาดเพียง 5 ลิตรและระบายทิ้งไป 95 ลิตรก็มี ไส้กรองแบบนี้เหมาะสำหรับการกรองน้ำทะเล เพราะน้ำทะเลไม่มีราคา และมีปริมาณไม่จำกัด แต่การนำมาใช้กรองน้ำประปา น้ำประปาจะถูกระบายทิ้งไปเป็นจำนวนมากอย่างน่าเสียดาย ไส้กรองแบบนี้ต้องใช้แรงดันน้ำมากประมาณ 200 psi. หรือ ประมาณ 20 เท่าของแรงดันน้ำประปาปกติ การกรองน้ำจึงต้องสิ้นเปลืองกระแสไฟฟ้าในการขับเครื่องสูบน้ำที่มีแรงดันสูง นอกจากนี้ยังมีการใช้สารเคมีในน้ำที่ใช้ไส้กรองแบบนี้ เพียงเพื่อยืดอายุของไส้กรองให้ใช้งานได้นานขึ้น ไม่ใช่เพื่อทำให้น้ำที่กรองออกมามีคุณภาพดีขึ้น และเนื่องจากไส้กรองแบบนี้ไม่ใช่วัสดุที่มีอยู่ตามธรรมชาติ แต่เป็นวัสดุที่ทำจากสารสังเคราะห์ อันตรายที่อาจเกิดขึ้นจากการใช้สารสังเคราะห์นี้ จึงเป็นสิ่งที่ควรระวัง เพราะปฏิกิริยาของแรงดันอันมหาศาล ที่สามารถแยกอนุภาคของแร่ธาตุที่ละลายอยู่ในน้ำให้แยกออกจากน้ำได้ จะมีผลข้างเคียงอะไร หรือจะกดดันให้สารสังเคราะห์นี้ปล่อยสารอันตรายอะไรตามออกมาอีก ก็ยังไม่มีใครสามารถบอกได้
จากความเข้าใจที่ว่าน้ำกลั่นเป็นน้ำที่ บริสุทธิ์ จึงได้มีผู้ผลิตเครื่องกลั่นน้ำประจำบ้านสำหรับทำน้ำดื่มขึ้น การกลั่นน้ำนี้สิ้นเปลืองพลังงานไฟฟ้ามาก เพราะจะต้องใช้ไฟฟ้าต้มน้ำให้เดือดกลายเป็นไอตลอดเวลา และสิ้นเปลืองน้ำมากเพราะต้องปล่อยให้น้ำไหลตลอดเวลาเป็นการระบายความร้อน เพื่อทำให้ไอน้ำกลั่นตัวเป็นหยดน้ำ ความจริงน้ำกลั่นไม่ควรที่จะใช้เป็นน้ำดื่มในชีวิตประจำวัน น้ำกลั่นเหมาะที่จะใช้สำหรับเติมแบตเตอรี่หรือใช้ในห้องทดลอง คุณสมบัติที่เป็นอันตรายของน้ำกลั่นก็คือ ความบริสุทธิ์ น้ำที่บริสุทธิ์ 100% จะมีความสามารถในการละลาย (Solubility) ได้สูงมาก สารพิษที่อยู่ในเนื้อโลหะหรือเนื้อพลาสติกที่น้ำกลั่นสัมผัส จึงมีโอกาสที่จะถูกละลายออกมาอยู่ในน้ำกลั่นได้มาก


น้ำดื่มบรรจุขวด
น้ำ ดื่มบรรจุขวดซึ่งมีขายอยู่ทั่วไป นับเป็นน้ำดื่มที่ได้รับความนิยมอย่างรวดเร็ว เพราะคนส่วนใหญ่เชื่อกันว่าเป็นน้ำที่สะอาดและปลอดภัย ทั้งที่น้ำดื่มบรรจุขวดส่วนมาก ก็ผลิตจากน้ำประปาซึ่งเต็มไปด้วยสารเคมีดังที่กล่าวมาแล้ว การผลิตน้ำดื่มบรรจุขวดส่วนใหญ่ จะใช้เครื่องกรองน้ำที่มีระบบการทำงานคล้ายกับเครื่องกรองน้ำที่ใช้ตามบ้าน เพียงแต่ว่ามีขนาดใหญ่กว่า มีความสามารถในการผลิตน้ำได้มากกว่า โดยมีการใช้สารเคมีทำนองเดียวกับสารเคมีที่ใช้กับเครื่องกรองน้ำตามบ้านที่ กล่าวมาแล้ว สารเคมีที่อาจจะมีเพิ่มเติมเข้ามาในน้ำดื่มบรรจุขวดก็คือ สารเคมีที่อยู่ในเนื้อพลาสติกที่ใช้ทำขวดบรรจุน้ำดื่มนั้นนั่นเอง น้ำที่แช่อยู่ในขวดพลาสติกนานๆ ก็อาจจะละลายเอาสารเคมีที่อยู่ในเนื้อพลาสติกออกมาได้ไม่มากก็น้อย


การดื่มน้ำที่มีสารเคมี
น้ำ ดื่มที่ผ่านกระบวนการผลิตที่สลับซับซ้อน และใช้สารเคมีชนิดต่างๆ สามารถผลิตน้ำให้ดูใสสะอาดปราศจากสีปราศจากกลิ่น ไม่ได้เป็นสิ่งที่แสดงว่าน้ำนั้นไม่มีสิ่งที่เป็นอันตรายเจือปนอยู่ สารเคมีที่มีอันตรายเป็นจำนวนมาก สามารถละลายตัวอยู่ในน้ำ โดยไม่ปรากฏสีและกลิ่นให้สัมผัสได้ ปริมาณของสารเคมีถึงแม้จะมีเพียงน้อยนิด แค่หนึ่งส่วนในล้านส่วน ก็อาจจะถือว่าอันตรายได้ อันตรายในน้ำดื่ม ไม่จำเป็นต้องแสดงออกมาให้รู้ได้ ด้วยการดื่มน้ำนั้นเพียงแก้วเดียว แม้จะดื่มสัก 10แก้ว 100แก้ว หรือดื่มไปเป็นปีๆ ก็อาจจะยังไม่รู้สึกผิดปกติ เพราะสารเคมีนั้นยังสะสมอยู่ในร่างกายไม่มากพอ กว่าจะรู้สึกผิดปกติหรือมีอาการเจ็บป่วยขึ้นมา ก็อาจจะต้องดื่มน้ำนั้นติดต่อกันเป็นสิบๆ ปี น้ำดื่มนี้เราไม่ได้ดื่มเพียงสิบๆ ปี แต่เราต้องดื่มไปตลอดชีวิต ซึ่งอาจจะเป็น 60ปี, 70ปี หรือนานกว่านี้ก็ได้ จึงไม่สมควรที่จะยอมให้มีสิ่งที่เป็นอันตรายแม้เพียงเล็กน้อย มาอยู่ในน้ำที่เราใช้ดื่มเป็นประจำ นอกจากจะใช้ ดื่มแก้ขัด ชั่วครั้งชั่วคราว เท่านั้น
สารเคมีที่บริโภคเข้าไปวันละเล็กวันละน้อย ถึงแม้จะมีการรับรองกันว่าไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ แต่หากสามารถหลีกเลี่ยงได้ก็ควรหลีกเลี่ยง เพราะสารเคมีเป็นสิ่งที่สังเคราะห์ขึ้น ไม่ใช่สิ่งที่มีตามธรรมชาติ เป็นสิ่งแปลกปลอมในธรรมชาติ เป็นสิ่งที่ฝืนธรรมชาติ สิ่งมีชีวิตหรือมนุษย์เป็นธรรมชาติอย่างหนึ่ง การดำรงชีวิตจึงควรจะเป็นไปตามธรรมชาติให้มากที่สุด การบริโภคสารเคมีจึงเป็นสิ่งที่ควรหลีกเลี่ยงให้มากที่สุด


การพิสูจน์น้ำดื่ม
น้ำ ฝนหากไม่ได้ถูกใช้เป็นน้ำดื่มมาตั้งแต่เริ่มมีมนุษย์ในโลกนี้ น้ำฝนก็น่าจะถูกใช้เป็นน้ำดื่มมานานหลายพันหลายหมื่นปีแล้ว มนุษย์สามารถสืบเผ่าพันธุ์ต่อมา โดยไม่มีใครรู้จักโรคมะเร็ง น้ำประปาถูกทดลองใช้เป็นน้ำดื่มเมื่อมีการสร้างระบบประปาขึ้นมา ซึ่งระบบประปาก็ถูกสร้างขึ้นมาเป็นครั้งแรกเมื่อ 100 กว่าปีที่ผ่านไปนี้เอง และโรคมะเร็งก็เป็นที่รู้จักกันมากขึ้นในยุคนี้ น้ำดื่มบรรจุขวดก็เพิ่งจะแพร่หลายเมื่อ 10 กว่าปีนี้เอง ปัจจุบันก็มีการผลิตน้ำดื่มชนิดใหม่ๆเพิ่มขึ้นมา เช่น การผลิตน้ำดื่มด้วยระบบรีเวิร์สออสโมซีส การผลิตน้ำดื่มด้วยเครื่องกลั่นน้ำ การที่จะพิสูจน์ว่าน้ำดื่มชนิดไหนไม่ปลอดภัย คงต้องใช้เวลาอีกนาน ความรู้และเครื่องมือเท่าที่มีอยู่ในปัจจุบันนี้ ไม่สามารถบอกได้ว่ามีอันตรายอะไร จึงไม่มีใครสามารถหยุดยั้งธุระกิจน้ำดื่มเหล่านี้ได้ ต้องปล่อยให้ผู้ที่ชอบทดลองของใหม่ ทดลองดื่มไปเรื่อยๆก่อน ซึ่งอาจต้องใช้เวลาอีกหลายชั่วอายุคน กว่าจะรู้คำตอบ แต่ในระหว่างที่ยังไม่มีคำตอบ เราก็สามารถป้องกันตัวเองได้ โดยการหลีกเลี่ยงการดื่มน้ำที่มีสารเคมี หันไปดื่มน้ำฝนธรรมชาติ ซึ่งเป็นน้ำดื่มที่ถูกพิสูจน์แล้วว่าเป็นน้ำดื่มที่ปลอดภัย โดยบรรพบุรุษของเราซึ่งดื่มน้ำฝนนี้มาตลอด และสามารถสืบเผ่าพันธุ์ของมนุษย์มาจนถึงปัจจุบันได้
ในการผลิตน้ำดื่ม ชนิดต่างๆที่กล่าวมา จะเห็นได้ว่าน้ำฝนสามารถทำให้เป็นน้ำดื่มได้โดยไม่ต้องใช้สารเคมี เพราะน้ำฝนที่รองจากหลังคาเก็บไว้ในโอ่งจะเป็นน้ำที่สะอาดที่สุด ส่วนน้ำประปา น้ำดื่มบรรจุขวด หรือน้ำดื่มจากเครื่องกรองน้ำประปา ล้วนแต่ต้องใช้สารเคมีทั้งนั้น จำนวนสารเคมีที่ใช้จะมากหรือน้อยก็ขึ้นอยู่กับแหล่งน้ำที่นำมาผลิตว่ามีความ สกปรกมากหรือน้อย ยิ่งสกปรกมากก็ยิ่งต้องใช้สารเคมีมาก น้ำฝนจึงเป็นน้ำดื่มชนิดเดียวที่ปลอดสารเคมี

ขอขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.rain.pantown.com/
น้ำดื่มปลอดสารเคมี
โดย
ประสงค์ นิ้มวัฒนา วศ.บ.(จุฬาฯ)





1 ความคิดเห็น:

  1. เรากินนํ้าฝนมานานนับพันๆปีแล้ว จนร่างกายรู้จักและยอมรับนํ้าฝนว่าเป็นหนึ่งที่สำคัญของร่างกาย

    ตอบลบ